วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

OVER-CONSUME



"แค่มีบัตรใบเดียว อยากได้อะไรก็รูดปื๊ด...รูดปื๊ดดดด"

…โรลสรอยด์ เบนซ์ บีเอ็มของพ่อจอดเรียงรายอยู่ในโรงรถ เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋าสารพัดแบบของแม่ เรียงรายเต็มตู้บิลด์อินครึ่งห้องบัตรเครดิตทุกธนาคารอัดแน่นอยู่ในกระเป่าสตางค์ เครื่องเล่นดีวีดี ชุดโฮมเธียเตอร์ iPod - MP 3 - MP 4 - โทรศัพท์มือถือ กล้องดิจิติอล ฯลฯ

“ไม่ใช่เพราะพ่อแม่อยากให้สังคมยอมรับหรอกหรือถึงได้จำเป็นต้องบริโภควัตถุเหล่านี้”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย อดีตนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่แท้จริงของการบริโภคอย่างไม่เพียงพอหรือบริโภคเกินของคนในยุคนี้ เป็นเพราะต้องการ “การยอมรับ” จากสังคม

“…อย่างเช่นพ่อต้องการเป็นหัวหน้างาน ก็ต้องมีสิ่งพิสูจน์ให้เขาเชื่อถือ จำเป็นต้องมีอุปกรณ์จำเป็นของชีวิต เช่น รถยนต์ แม่เองต้องใส่น้ำหอม ใส่เครื่องประดับ ไม่ใช่เพราะการยอมรับในสังคมหรอกหรือ ทั้งเครดิตในหน้าที่การงาน หน้าตาในสังคม

“พ่อแม่บางคนไม่ได้ซื้อมอเตอร์ไซค์ให้ลูก แต่ลูกไม่ยอมกินข้าวถ้าไม่ได้มอเตอร์ไซค์ เพราะใครๆ เขามีกัน กระแสความอยากมีอยากได้เหล่านี้มันมีมาเป็นกระบวน แม้พ่อแม่จะไม่เห็นด้วยแต่ที่สุดแล้วก็ทนกระแสไม่ไหว แล้วอันที่จริงพ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะเห็นดีเห็นงามไปตามกระแส… ซึ่งมีผลต่อการสร้างลักษณะนิสัยการบริโภคของลูก”
อาจารย์อู่ทองกล่าวว่า พฤติกรรมการบริโภคนิยมของพ่อแม่มีผลเชื่อมโยงไปถึงตัวเด็กๆ เราจึงเห็นวัยรุ่นทำตัวอินเทรนด์ตั้งแต่การแต่งตัวไปจนถึงมีข้าวของเครื่องใช้ที่คนวัยเดียวกันมี…

“ดิฉันเชื่อว่า คนส่วนใหญ่ไม่สามารถยืนหยัดเป็นตัวของตัวเองโดยไม่รับผลกระทบจากคนรอบข้าง วัยรุ่นที่พยายามแต่งตัวอย่างนั้นอย่างนี้สารพัดแบบก็ไม่ใช่ต้องการยอมรับหรอกหรือ ถ้าอยู่ในบรรดาเพื่อนฝูงที่เปรี้ยว คุณก็ต้องทำตัวเปรี้ยว”
“ตัวพ่อแม่เองตกเป็นเหยื่อกระแสสังคม กระแสสังคมนี้ใช้สื่อหรือไม่?… ดิฉันว่าสื่อเป็นเพียงตัวถ่ายทอด และความถี่ของการถ่ายทอดเป็นตัวกระตุ้นได้ เมื่อคนเห็นโฆษณาบ่อยๆ ก็ทำให้อยากจะมี”
กระแสสังคมที่ทำให้พ่อแม่ตกเป็นเหยื่อนี้เกิดจากปัจจัยหลักที่ภาครัฐเป็นผู้สร้าง
“คุณลองดูกระแสที่รัฐบาลพยายามโหมสิ มันทำให้คนอยากมี อยากเป็น อยากได้ แล้วสิ่งที่รัฐทำคือเปิดโอกาสให้คนได้มีได้เป็นโดยเป็นหนี้ คนจะไม่ยิ่งบริโภคใหญ่เหรอ แต่ก่อนเราอาจจะอยากมี อยากเป็น อยากได้ แต่เราไม่มีบัตรเครดิต เราก็ไม่รู้จะได้ได้อย่างไรในเมื่อเราไม่มีเงินสด หรือแต่ก่อนเรามีแผงลอยอยู่แผงหนึ่งเราก็ไม่สามารถเอาสินทรัพย์ไปแปลงเป็นทุนได้ หรือกว่าจะกู้เครดิตก็มีเงื่อนไขมากมาย เมื่อคนเราเข้าถึงเงินง่าย ก็จะกู้ยืมไปเรื่อยๆ เรื่องใช้หนี้มาทีหลัง เอาเงินจากการเป็นหนี้ไปใช้บริโภคสินค้า เอกชนก็ต้องการกำไร ก็เปิดโอกาสให้คนทำบัตรเครดิตได้หลายใบมากขึ้น ผลเสียที่ตามมาคือ คนเป็นหนี้มหาศาล เมื่อคนเข้าถึงเงินง่ายขึ้น ความรับผิดชอบต่อเงินก็น้อยลง
“คนที่โดนพิษเศรษฐกิจเมื่อช่วงปี 40 อาจจะเข็ด แต่คนรุ่นใหม่อาจยังไม่เข็ด เพราะยังไม่ผ่านความทุกข์ตรงนั้น ก่อนหน้านี้คนที่ได้รับผลสะเทือนมากๆ คือคนที่อยู่ในวงการเงิน แต่คนเป็นหนี้ตอนนี้เป็นประชาชนในชนบท.. คนจนลงส่วนหนึ่งไม่ใช่เพราะเอาเงินไปซื้อวัตถุหรอกหรือ มอเตอร์ไซค์มีกันเพียบเลย ทีวีมีทุกบ้านหลายบ้านมีมากกว่า 1 เครื่อง วัสดุอุปกรณ์ในชีวิตเพิ่มขึ้น เหตุนี้คนจึงเป็นหนี้เพิ่มขึ้น

“คนที่มีหนี้สินก็ต้องทำงานหนักขึ้น คนทำงานหนักขึ้นก็มีวิธีคิดสองแบบ ทำงานหนักขนาดนี้ต้องบริโภคให้คุ้ม เหนื่อยขนาดนี้ต้องใช้เงินเยอะ คนบริโภคเยอะต้องทำงานมาใช้หนี้… เป็นวัฏจักร

ที่บอกว่าทำงานเพื่อลูกที่รักมาก แต่ไม่มีเวลาให้ลูกที่คุณรักโดยเฉพาะในเวลาที่เขาต้องการพ่อแม่ที่สุด เงินอาจไม่มีความหมาย เพราะกว่าจะมีเวลาให้เขาก็อาจจะสายเกินไปก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาของวัยรุ่น ความเกเรของลูก บางทีอาจเป็นการเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่มีเวลาให้ เขาสบายใจที่จะอยู่กับพ่อแม่ อาจจะไม่เกเรก็ได้

ฉะนั้นพ่อแม่ที่ทำงานเพื่อความสุขสบายของลูกอยากให้คิดสักนิด อย่างน้อยถามลูกสักหน่อยว่าเขาอยากได้สิ่งนั้นจริงหรือเปล่า และถ้าเขาอยากได้ ก็อาจจะบอกว่า ถ้าหนูอยากได้ เวลาที่จะใกล้ชิดกันจะหายไป”

"ในปลายปีนี้จะมีวิธีการโฆษณาผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ ช่องทางโฆษณาจากทีวีจะไหลเข้ามาสู่มือถือมากขึ้น การรับรู้ข้อมูลกเป็นปัจเจกมากขึ้น และเป็นสินค้าที่กระทบต่อกลุ่มวัยรุ่นมาก"

นันทขว้าง สิรสุนทร นักวิจารณ์และคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯธุรกิจ เล่าถึงวิธีการเข้าถึงบริโภคของสินค้าต่างๆ ที่พยายามหาช่องทางใหม่ๆ ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าให้ถึงตัวกลุ่มเป้าหมายแบบตัวต่อตัวมากขึ้น และกลุ่มเป้าหมายสำคัญในยุคนี้ คือวัยรุ่น

“น่าเป็นห่วงว่า ผู้ผลิตสื่อ สินค้า ไม่ว่าจะเป็นมือถือ iPod ฯลฯ มีความเข้าใจในกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น เขารู้ว่าอะไรที่จะทำให้เด็กวัยรุ่นควักเงินในกระเป๋าซื้อสินค้าได้ง่าย ซึ่งนั่นก็คือ ความทันสมัย (Trendy) และ นัยประหวัดทางเพศ (Sex) ยกตัวอย่างเช่น งานมอเตอร์ไซค์ รถยนต์แต่ละยี่ห้อจำเป็นต้องมีพริตตี้ทำพีอาร์สินค้า

แล้วเทรนด์ใหม่ของสินค้าปัจจุบันก็พยายามดึงดูดวัยรุ่น เช่น โทรศัพท์มือถือเมื่อก่อนเรามีไว้เพื่อสื่อสารพูดคุย แต่เดี๋ยวนี้มันมีแฟชั่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ฟังเพลงได้ ถ่ายรูปได้ ส่งไฟล์ เก็บไฟล์ภาพ คลิปวิดีโอโป๊ ขณะเดียวกันเครื่องเล่น iPod สำหรับฟังเพลงก็ยังสามารถเก็บคลิปวิดีโป๊ได้มากกว่าโทรศัพท์มือถือซะอีก… ทำให้เด็กวัยรุ่นล้วนเริ่มซื้อมาใช้ไว้เก็บสะสมสิ่งเหล่านี้”

การชอปปิ้งได้กลายมาเป็นกิจวัตรสำหรับวัยรุ่น ซึ่งส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ไปชอปปิ้งตามห้างสรรพสินค้าเดือนละครั้ง เช่นเดียวกับการดูหนัง กินอาหารฟาสต์ฟูด เที่ยวกลางคืน ซึ่งล้วนเป็นกิจกรรมที่ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายจนพบว่าเยาวชนเกินกว่าครึ่งมีรายรับไม่พอรายจ่าย

กระแสสังคมที่กระตุ้นให้คนใช้เงิน เข้าถึงแหล่งเงินง่าย ทำบัตรเครดิตกันได้ง่ายๆ ยังระบาดมาถึงเยาวชน เปิดโอกาสให้วัยรุ่นสามารถมีบัตรเครดิตให้จับจ่ายสบายมือ โดยไม่รู้ตัวว่าเป็นการสร้างหนี้ตั้งแต่ยังไม่มีรายได้

อาจจะมีคำถามว่า แล้วกำลังน้อยนิดของพ่อแม่ในทุกวันนี้ที่แบกภาระหลายอย่างอยู่บนบ่า จะประคับประคองลูกพาครอบครัวฝ่ากระแสสังคมและกระแสสื่อโฆษณาอย่างไร

อาจารย์อู่ทองให้ความคิดเห็นว่า น่าจะทำได้…

“ถ้าเด็กยังเคารพพ่อแม่ ศรัทธาในความประพฤติการวางตัวของพ่อแม่ ถ้าคุณบริโภคให้น้อยลง คุณก็ใช้เงินน้อยลง มีเวลาให้ลูกมากขึ้น คุณก็สามารถทำตัวให้เป็นตัวอย่างได้…”

ข้อมูลจากโครงการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อพฤติกรรมการใช้สอยของเด็กวัยรุ่น กรณีศึกษาประชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2546

ไม่มีความคิดเห็น: